หมวดที่ 6 การประชุมใหญ่ ข้อ 47. การประชุมใหญ่สามัญ ให้คณะกรรมการดำเนินการเรียกประชุมใหญ่ปีละหนึ่งครั้งภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวัน นับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์ ข้อ 48. การประชุมใหญ่วิสามัญ คณะกรรมการดำเนินการจะเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อใดก็สุดแต่จะเห็นสมควร แต่ถ้านายทะเบียนสหกรณ์แจ้งให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญหรือในกรณีที่สหกรณ์เกิดการขาดทุนเกินกึ่งของจำนวนทุนเรือนหุ้นที่ชำระแล้ว ต้องเรียกประชุมใหญ่วิสามัญโดยมิชักช้า แต่ไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่สหกรณ์ทราบ สมาชิกซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคนลงลายมือชื่อทำหนังสือร้องขอเพื่อการใดการหนึ่งต่อคณะกรรมการดำเนินการ ให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อใดก็ได้ ให้คณะกรรมการดำเนินการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่รับคำร้องขอ ถ้าคณะกรรมการดำเนินการไม่เรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่วิสามัญได้ ภายในระยะเวลาที่เห็นสมควร ข้อ 49. การแจ้งกำหนดการประชุมใหญ่ เมื่อมีการประชุมใหญ่ทุกคราว ให้สหกรณ์มีหนังสือแจ้งวัน เวลา สถานที่ และเรื่องที่จะประชุมให้บรรดาสมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน แต่ถ้าการประชุมนั้นเป็นการด่วน อาจแจ้งล่วงหน้าได้ตามสมควร ทั้งนี้ให้ประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการ หรือเลขานุการเป็นผู้ลงชื่อในหนังสือนั้น และต้องแจ้งเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทราบล่วงหน้า ในโอกาสเดียวกันกับที่แจ้งให้สมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกทราบด้วย ข้อ 50. องค์ประชุมในการประชุมใหญ่ การประชุมใหญ่ของสหกรณ์ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนของสมาชิกทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคนจึงจะเป็นองค์ประชุม และสมาชิกจะมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาประชุมแทนตนไม่ได้ ในการประชุมใหญ่คราวใดมีสมาชิกมาประชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้นัดประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่งภายในสิบสี่วัน นับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก ในการประชุมครั้งหลังนี้ ถ้ามิใช่การประชุมใหญ่วิสามัญที่สมาชิกร้องขอให้เรียกประชุมแล้ว เมื่อมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดหรือไม่น้อยกว่าสามสิบคน ก็ให้ถือเป็นองค์ประชุม แต่ถ้าเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่สมาชิกร้องขอให้เรียกประชุม เมื่อมีสมาชิกมาประชุมมีจำนวนไม่ถึงที่จะเป็นองค์ประชุมตามที่กล่าวในวรรคแรกก็ให้งดประชุม ข้อ 51. อำนาจหน้าที่ของที่ประชุมใหญ่ ที่ประชุมใหญ่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้ (1) รับทราบเรื่องรับสมาชิกเข้าใหม่ สมาชิกออกจากสหกรณ์ และวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของผู้สมัครซึ่งมิได้รับเลือกเข้าเป็นสมาชิก (2) พิจารณาเลือกตั้งและถอดถอนกรรมการดำเนินการ และผู้ตรวจสอบกิจการของสหกรณ์ (3) พิจารณาอนุมัติงบดุล และจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์ (4) รับทราบรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์ ของคณะกรรมการดำเนินการ และรายงานของผู้ตรวจสอบกิจการของสหกรณ์ (5) พิจารณากำหนดบำเหน็จค่าตอบแทนการปฏิบัติงานของกรรมการดำเนินการ หรือกรรมการอื่น ๆ และผู้ตรวจสอบกิจการของสหกรณ์ตลอดจนกำหนดค่าธรรมเนียมการตรวจสอบบัญชีและคัดเลือกผู้สอบบัญชีเพื่อเสนอให้นายทะเบียนสหกรณ์แต่งตั้ง (6) พิจารณากำหนดวงเงินซึ่งสหกรณ์อาจกู้ยืมหรือค้ำประกัน (7) อนุมัติแผนงานและประมาณการรายจ่ายประจำปีของสหกรณ์ (8) พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ (9) รับทราบเรื่องการดำเนินงานของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และหรือชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นี้เป็นสมาชิกอยู่ (10) พิเคราะห์และปฏิบัติตามข้อบันทึกของนายทะเบียนสหกรณ์ หรือรองนายทะเบียนสหกรณ์หรือผู้ตรวจการสหกรณ์ หรือผู้สอบบัญชี ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์แต่งตั้ง หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย (11) กำหนดรูปการซึ่งสหกรณ์คิดจะทำเป็นเครื่องเกื้อหนุนบรรดาสมาชิกตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์
|