ข้อ 52 คณะกรรมการดำเนินการ
ให้สหกรณ์มีคณะกรรมการดำเนินการ ประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกไม่เกินสิบสี่คน ซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิก
สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการสมัครรับเลือกตั้งและการสรรหานั้น ให้เป็นไปตามระเบียบของสหกรณ์และวิธีการที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด โดยได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่
ให้กรรมการดำเนินการเลือกตั้งในระหว่างกันเองขึ้นดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการหนึ่งคนหรือหลายคน เลขานุการคนหนึ่ง และหรือเหรัญญิกคนหนึ่ง นอกนั้นเป็นกรรมการ และปิดประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน ณ สำนักงานสหกรณ์
ห้ามมิให้บุคคลผู้ซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นหรือทำหน้าที่กรรมการดำเนินการ
- เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
- เคยหรือถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออก จากราชการ องค์กร หรือหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนฐานทุจริตต่อหน้าที่
- เคยถูกให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการหรือมีคำวินิจฉัยเป็นที่สุดให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการตามคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์
- เคยถูกที่ประชุมใหญ่มีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งกรรมการ เพราะเหตุทุจริตต่อหน้าที่
- เป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการดำเนินการมาแล้วสองวาระติดต่อกัน เว้นแต่จะได้พักมาแล้วอย่างน้อย 1 ปีทางบัญชี
- ผิดนัดการชำระเงินงวดชำระหนี้ ไม่ว่าต้นเงินหรือดอกเบี้ย ในระยะเวลาสองปีทางบัญชีนับแต่ปีที่ผิดนัดถึงปีที่เลือกตั้งกรรมการดำเนินการ เว้นแต่การผิดนัดนั้น มิได้เกิดขึ้นจากการกระทำของตนเอง
- ผู้ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสหกรณ์นี้
- เป็นกรรมการหรือผู้จัดการในสหกรณ์ที่ถูกสั่งเลิกตามมาตรา 89/3 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562
- ลักษณะต้องห้ามอื่นตามที่กฎกระทรวงและระเบียบที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2564
ข้อ 53 อำนาจหน้าที่ของกรรมการดำเนินการแต่ละตำแหน่ง
(ก) ประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
- เป็นประธานในที่ประชุมใหญ่ และที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการและควบคุมการประชุมดังกล่าวให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
- ควบคุมดูแลการดำเนินงานทั่วไปของสหกรณ์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและอยู่ในวัตถุประสงค์ของสหกรณ์
- ลงลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆ ในนามสหกรณ์ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
- ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมายให้ภายใต้ข้อบังคับ ระเบียบ มติ หรือคำสั่งของสหกรณ์
(ข) รองประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
- ปฏิบัติการในอำนาจหน้าที่ของประธานกรรมการแทนประธานกรรมการ เมื่อประธานกรรมการไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือเมื่อตำแหน่งประธานว่างลง
- ปฏิบัติการตามที่ประธานกรรมการมอบหมายให้
- ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมายให้ภายใต้ข้อบังคับ ระเบียบ มติ หรือคำสั่งของสหกรณ์
(ค) เลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
- จัดทำรายงานการประชุมใหญ่ และรายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการทุกครั้ง
- ดูแลรักษาเอกสาร และรายงานการประชุมของสหกรณ์ให้เรียบร้อยอยู่เสมอ
- แจ้งนัดประชุมไปยังบรรดาสมาชิก หรือกรรมการดำเนินการแล้วแต่กรณี
- ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมายให้ภายใต้ข้อบังคับ ระเบียบ มติ หรือคำสั่งของสหกรณ์
(ง) เหรัญญิก มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
- ควบคุม ดูแล ตรวจสอบการรับ จ่าย และการเก็บรักษาเงินและทรัพย์สินของสหกรณ์ให้เป็นไปโดยถูกต้องเรียบร้อย
- ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมายให้ภายใต้ข้อบังคับระเบียบ มติ หรือคำสั่งของสหกรณ์
ข้อ 54 กำหนดเวลาอยู่ในตำแหน่ง
คณะกรรมการดำเนินการมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปีนับแต่วันเลือกตั้ง เมื่อครบกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันเลือกตั้ง ให้กรรมการดำเนินการออกจากตำแหน่งเป็นจำนวนหนึ่งในสองของกรรมการดำเนินการทั้งหมดโดยวิธีจับฉลาก (ถ้ามีเศษให้ปัดขึ้น) และให้ถือว่าเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ในปีต่อไปให้กรรมการดำเนินการที่อยู่ในตำแหน่งจนครบวาระหรืออยู่นานที่สุดออกจากตำแหน่งสลับกันไปทุก ๆ ปี
เมื่อครบกำหนดแล้ว หากยังไม่มีการเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการชุดใหม่ ก็ให้คณะกรรมการดำเนินการชุดเดิมรักษาการไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการชุดใหม่ แต่ต้องไม่เกิน 150 วัน นับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีสหกรณ์
กรรมการดำเนินการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับเลือกตั้งซ้ำอีกได้ แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
ข้อ 55 การพ้นจากตำแหน่ง
กรรมการดำเนินการต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
- ถึงคราวออกตามวาระ
- ลาออก โดยแสดงความจำนงเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการดำเนินการ
- ขาดจากสมาชิกภาพ
- เข้ารับตำแหน่งหน้าที่ประจำในสหกรณ์นี้
- ตกเป็นผู้ผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ไม่ว่าเงินต้นหรือดอกเบี้ย
- ที่ประชุมใหญ่ลงมติถอดถอนทั้งคณะ หรือรายตัว
- นายทะเบียนสหกรณ์สั่งให้ออกทั้งคณะ หรือรายตัว
ข้อ 56 ตำแหน่งว่างก่อนถึงคราวออกตามวาระ
ถ้าตำแหน่งกรรมการดำเนินการว่างลงก่อนถึงคราวออกตามวาระ เว้นแต่เพราะเหตุตามข้อ 55 (7) ให้กรรมการดำเนินการที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ประชุมดำเนินการต่อไปได้ จนกว่าจะมีการประชุมใหญ่ซึ่งจะได้มีการเลือกตั้งกรรมการดำเนินการแทนในตำแหน่งที่ว่าง แต่ถ้าในเวลาใดจำนวนกรรมการดำเนินการลดลงจนเหลือน้อยกว่าองค์ประชุมกรรมการดำเนินการที่ดำรงตำแหน่งอยู่จะประชุมดำเนินการใด ๆ ไม่ได้ นอกจากต้องนัดเรียกให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นโดยเร็ว
ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการดำเนินการว่างลงก่อนถึงคราวออกตามวาระตามความในวรรคก่อนนั้นเป็นตำแหน่งประธานกรรมการ หากไม่มีรองประธานกรรมการทำหน้าที่แทน และยังมิได้มีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งใหม่ คณะกรรมการดำเนินการอาจพิจารณาเลือกตั้งกรรมการดำเนินการอื่นขึ้น ทำหน้าที่แทนชั่วคราว จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่
กรรมการดำเนินการซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งขึ้นแทนในตำแหน่งที่ว่าง ให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาที่ผู้ซึ่งตนแทนนั้นชอบที่จะอยู่ได้
ข้อ 57 การประชุมและองค์ประชุม
ให้คณะกรรมการดำเนินการประชุมกันตามคราวที่มีกิจธุระแต่จะต้องมีการประชุมกันเดือนละครั้งเป็นอย่างน้อย
ให้ประธานกรรมการ หรือรองประธานกรรมการ หรือเลขานุการ นัดเรียกประชุมคณะกรรมการดำเนินการได้ ในกรณีที่เป็นการประชุมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขระเบียบ ข้อบังคับ และเรื่องที่สำคัญอื่น ๆ ของสหกรณ์ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทราบด้วยทุกคราว
ในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการ ต้องมีกรรมการดำเนินการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการดำเนินการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อ 58 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการ
คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการทั้งปวงของสหกรณ์ให้เป็นไปตามข้อบังคับและตามมติของที่ประชุมใหญ่ กับทั้งในทางอันจะทำให้เกิดความจำเริญแก่สหกรณ์ทุกประการ ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้
- ดำเนินการในเรื่องการรับสมาชิกและสมาชิกออกจากสหกรณ์ ตลอดจนดูแลให้สมาชิกปฏิบัติการต่าง ๆ ตามข้อบังคับ ระเบียบ และมติของสหกรณ์
- พิจารณาดำเนินการในเรื่องการรับฝาก การกู้ยืมเงิน การให้เงินกู้ และการฝาก หรือลงทุนเงินของสหกรณ์
- กำหนดและดำเนินการเกี่ยวกับการประชุมใหญ่ และเสนองบดุลกับรายงานประจำปี แสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่
- เสนอการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีต่อที่ประชุมใหญ่
- เสนอประมาณการรายจ่ายประจำปีของสหกรณ์เพื่อที่ประชุมใหญ่สามัญพิจารณาอนุมัติ
- พิจารณากำหนดค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่าเช่าที่พัก และค่าเบี้ยประชุมของกรรมการดำเนินการ คณะกรรมการอื่น ๆ ที่ปรึกษาและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์
- พิจารณาดำเนินการแต่งตั้ง หรือจ้าง และกำหนดค่าตอบแทนแก่ผู้จัดการ เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ตลอดจนควบคุมดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นการถูกต้อง
- พิจารณาดำเนินการแต่งตั้ง และกำหนดค่าตอบแทนแก่ผู้ตรวจสอบภายใน
- กำหนดระเบียบต่าง ๆ ของสหกรณ์
- จัดให้มีและดูแลให้เรียบร้อยซึ่งบรรดาทะเบียน สมุด บัญชีเอกสารต่าง ๆ และบรรดาอุปกรณ์ดำเนินงานของสหกรณ์
- พิจารณาให้สหกรณ์สมัครเข้าเป็นสมาชิกของชุมนุมสหกรณ์
- พิจารณาดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการ หรือ คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของสหกรณ์
- พิเคราะห์และปฏิบัติตามข้อบันทึกของนายทะเบียนสหกรณ์ หรือรองนายทะเบียนสหกรณ์ หรือผู้ตรวจการสหกรณ์ หรือผู้สอบบัญชี หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย
- พิจารณาให้ความเที่ยงธรรมแก่บรรดาสมาชิก เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ ตลอดจนสอดส่องดูแลโดยทั่วไป เพื่อให้กิจการของสหกรณ์ดำเนินไปด้วยดี
- พิจารณารายงานของคณะกรรมการอื่น ๆ หรือผู้ตรวจสอบกิจการ หรือความเห็นของผู้จัดการ หรือสมาชิกเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์
- เชิญสมาชิก หรือบุคคลภายนอกที่เห็นสมควร เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการดำเนินการ ตลอดจนกำหนดค่าตอบแทนให้ตามที่เห็นสมควร
- ฟ้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดี เกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ หรือประนีประนอมยอมความหรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการ พิจารณาชี้ขาด
- เสนอแผนงานและเป้าหมายในการดำเนินงานให้ที่ประชุมใหญ่สามัญอนุมัติ
- ทำการต่าง ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน ดังระบุไว้ในวัตถุประสงค์ของสหกรณ์
- พิจารณาแต่งตั้งกรรมการดำเนินการเป็นผู้แทนของสหกรณ์ เพื่อเข้าประชุมใหญ่และออกเสียงในการประชุมใหญ่ของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และหรือชุมนุมสหกรณ์ ซึ่งสหกรณ์นี้เป็นสมาชิก ทั้งนี้ ตามที่ข้อบังคับของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และหรือชุมนุมสหกรณ์กำหนดไว้
- พิจารณามอบหมายอำนาจหน้าที่ในการดำเนินงานให้แก่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ เลขานุการ เหรัญญิก หรือผู้จัดการ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ตามความเหมาะสม
ข้อ 59 ความรับผิดชอบของคณะกรรมการดำเนินการ
ถ้ากรรมการดำเนินการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้สหกรณ์ได้รับความเสียหาย คณะกรรมการดำเนินการต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สหกรณ์
ข้อ 60 คณะกรรมการเงินกู้
ให้คณะกรรมการดำเนินการตั้งกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ จำนวนไม่เกิน 5 คน เป็นกรรมการเงินกู้ โดยให้มีตำแหน่งประธานกรรมการคนหนึ่ง และเลขานุการคนหนึ่ง นอกนั้นเป็นกรรมการ
คณะกรรมการเงินกู้ให้อยู่ในตำแหน่งได้คราวละหนึ่งปี เท่ากับกำหนดเวลาของคณะกรรมการดำเนินการซึ่งตั้งคณะกรรมการเงินกู้นั้น
ให้คณะกรรมการเงินกู้ประชุมกันตามคราวที่มีกิจธุระ แต่จะต้องมีการประชุมกันเดือนละครั้งเป็นอย่างน้อย และให้ประธานกรรมการเงินกู้ หรือเลขานุการนัดเรียกประชุมได้
ในการประชุมคณะกรรมการเงินกู้ ต้องมีกรรมการเงินกู้เข้าประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการเงินกู้ทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อวินิจฉัยทั้งปวงของคณะกรรมการเงินกู้ ให้นำเสนอคณะกรรมการดำเนินการทราบในการประชุมคราวถัดไป
ข้อ 61 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเงินกู้
ให้คณะกรรมการเงินกู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการอนุมัติเงินกู้แก่สมาชิกตามข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์รวมทั้งข้อต่อไปนี้
- ตรวจสอบการใช้เงินกู้ของสมาชิกให้เป็นไปตามความมุ่งหมายที่ให้เงินกู้นั้น
- ตรวจสอบควบคุมให้เงินกู้มีหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของ สหกรณ์ และเมื่อเห็นว่าหลักประกันสำหรับเงินกู้รายใดเกิดบกพร่องก็ต้องกำหนดให้ผู้กู้จัดการแก้ไขให้คืนดี
- ดูแลการชำระหนี้ของสมาชิกผู้กู้ให้เป็นไปตามที่กำหนดในสัญญา
- สอบสวนเบื้องต้นให้ได้ข้อความจริง ในกรณีสมาชิกผู้กู้ขอผ่อนเวลาการส่งเงินงวดชำระหนี้เงินกู้ หรือผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ เพื่อเสนอความเห็นให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาผ่อนผัน หรือเรียกคืนเงินกู้ หรือสอบสวนลงโทษให้สมาชิกออกจากสหกรณ์
ข้อ 62 ประธานในที่ประชุม
ในการประชุมใหญ่ หรือการประชุมคณะกรรมการดำเนินการให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ก็ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม และถ้ารองประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมด้วย ก็ให้ที่ประชุมเลือกตั้งกรรมการดำเนินการคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะการประชุมคราวนั้น
ในการประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ เช่น คณะกรรมการเงินกู้ ให้ประธานกรรมการนั้น ๆ เป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานคณะกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ก็ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะการประชุมคราวนั้น
ข้อ 63 การออกเสียง
สมาชิกหรือกรรมการดำเนินการ หรือกรรมการอื่น ๆ ออกเสียงในที่ประชุมใหญ่ หรือที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือที่ประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ สุดแต่กรณีได้เพียงคนละหนึ่งเสียง จะมอบให้ผู้อื่นมาประชุมและออกเสียงแทนตนไม่ได้
ถ้าปัญหาซึ่งที่ประชุมวินิจฉัยนั้น ผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษเฉพาะตัว ผู้นั้นจะออกเสียงในเรื่องนั้นไม่ได้
ข้อ 64 การวินิจฉัยปัญหา
เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นพิเศษในข้อบังคับนี้ การวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ในที่ประชุมใหญ่ หรือที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือที่ประชุมคณะ
กรรมการอื่น ๆ ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้ให้ถือเสียงสองในสามของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม
- การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ
- การเลิกสหกรณ์
ข้อ 65 รายงานการประชุม
ในการประชุมใหญ่หรือการประชุมคณะกรรมการดำเนินการหรือการประชุมคณะกรรมการอื่นๆนั้นต้องจัดให้ผู้เข้าประชุมลงลายมือชื่อ พร้อมทั้งบันทึกเรื่องที่พิจารณาวินิจฉัยทั้งสิ้นไว้ในรายงานการประชุม และให้ประธานในที่ประชุมกับกรรมการดำเนินการ หรือกรรมการอื่น ๆ แล้วแต่กรณีอีกคนหนึ่งที่เข้าประชุมนั้น ๆ ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ